การออกเสียงคำว่า GIF

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สไลด์ของสตีฟ วิลไฮต์ ในงานมอบรางวัลเวบบี 2013 เขียนว่า "มันออกเสียงว่า 'จิฟ' ไม่ใช่ 'กิฟ'"

การออกเสียงคำว่า GIF ซึ่งเป็นคำย่อของวลีภาษาอังกฤษว่า Graphics Interchange Format ('รูปแบบสับเปลี่ยนภาพกราฟิกส์')[1] เป็นประเด็นโต้แย้งกันมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ในภาษาอังกฤษนิยมออกเสียงคำย่อนี้เป็นคำพยางค์เดียวว่า /ɡɪf/ (เสียงคล้าย กิฟ, ฟังเสียง) ด้วยเสียง g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") และ /ɪf/ (เสียงคล้าย จิฟ, ฟังเสียง) ด้วยเสียง g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") การออกเสียงทั้งสองแบบต่างกันที่หน่วยเสียงที่เขียนแทนด้วยอักษร G ที่มาของข้อถกเถียงมาจากข้อเท็จจริงว่าในภาษาอังกฤษไม่มีกฎกลางสำหรับการออกเสียงลำดับอักษร gi[2]

บุคคลสาธารณะและสถาบันจำนวนมากได้ออกมาแสดงจุดยืนของตนในประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF เช่น สตีฟ วิลไฮต์ ผู้คิดค้นรูปแบบไฟล์ภาพนี้ เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่งานมอบรางวัลเวบบี 2013 โดยโต้แย้งว่าการออกเสียงอักษร G ในคำนี้เป็น g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") คือการออกเสียงที่ถูกต้อง ในขณะที่คนอื่น ๆ ชี้ว่าอักษร G ในคำนี้มีที่มาจากคำว่า graphics (เสียงคล้าย แกรฟิกส์) ซึ่งออกเสียงอักษร G เป็น g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") จึงควรออกเสียงอักษร G ในคำนี้เป็น g หนัก ตามไปด้วย

แม้ว่าความถี่ของการออกเสียงแต่ละแบบจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค แต่ผลการสำรวจโดยทั่วไปแสดงให้เห็นว่าการออกเสียงอักษร G ในคำว่า GIF เป็น g หนัก เป็นที่แพร่หลายมากกว่าในภาษาอังกฤษ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้พูดภาษาอังกฤษบางคนยังอ่านออกเสียงคำย่อนี้แบบเรียงตัวอักษรว่า / ɛf/ (เสียงคล้าย จีไอเอฟ, ฟังเสียง) พจนานุกรมภาษาอังกฤษโดยทั่วไปยอมรับการออกเสียงทั้งสองแบบหลัก และการวิเคราะห์ทางภาษาศาสตร์ไม่พบว่ามีการออกเสียงแบบใดที่มีความได้เปรียบทางสถิติอย่างเด่นชัด เมื่อพิจารณาจากความถี่ของรูปแบบการออกเสียงคำที่คล้ายกันในภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ การออกเสียงคำว่า GIF ยังอาจแตกต่างกันไปในภาษาอื่น ๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษเช่นกัน

ภูมิหลัง[แก้]

รูปแบบสับเปลี่ยนภาพกราฟิกส์ (Graphics Interchange Format; GIF) เป็นรูปแบบไฟล์ภาพที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใน ค.ศ. 1987 โดยสตีฟ วิลไฮต์ ที่คอมพิวเซิร์ฟ ผู้ให้บริการออนไลน์สัญชาติอเมริกัน ไฟล์สกุลนี้เป็นที่นิยมใช้เพื่อแสดงภาพเคลื่อนไหวที่มีขนาดสั้นและวนซ้ำ[3][4] คำย่อ GIF ซึ่งโดยทั่วไปนิยมออกเสียงเป็นคำพยางค์เดียวกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าควรออกเสียงพยัญชนะต้นคำอย่างไร บางคนออกเสียงคำนี้โดยใช้เสียง g หนัก (เสียงคล้ายเสียงของ "ก") เป็น /ɡɪf/ (เสียงคล้าย กิฟ, ฟังเสียง) ในขณะที่คนอื่น ๆ ออกเสียงคำนี้โดยใช้เสียง g เบา (เสียงคล้ายเสียงของ "จ") เป็น /ɪf/ (เสียงคล้าย จิฟ, ฟังเสียง)[2] ผู้พูดส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งอ่านออกเสียงคำย่อนี้แบบเรียงตัวอักษร จึงเกิดเป็นคำอ่านว่า / ɛf/ (เสียงคล้าย จีไอเอฟ, ฟังเสียง)[5]

วิลไฮต์และทีมงานที่พัฒนารูปแบบไฟล์ภาพนี้ระบุไว้ในข้อกำหนดทางเทคนิคว่าคำย่อนี้ให้ออกเสียงด้วย g เบา ในข้อกำหนดดังกล่าว ทีมงานเขียนหัวข้อคำถามหนึ่งไว้ว่า "โปรแกรมเมอร์ที่ช่างเลือก เลือก [การออกเสียงว่า] "กิฟ" หรือ "จิฟ"?"[a] ซึ่งเป็นการล้อคำขวัญโฆษณาสินค้าของบริษัทเนยถั่วจิฟที่ว่า "คุณแม่ที่ช่างเลือก เลือกจิฟ"[b][2] เอบีซีนิวส์ระบุว่าการถกเถียงเรื่องการออกเสียงคำนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1994 ที่ซึ่งผู้แต่งสารานุกรมรูปแบบไฟล์ภาพเล่มหนึ่งระบุว่า ดูเหมือนว่า "คนส่วนใหญ่" จะนิยมออกเสียง G ในคำนี้เป็น g หนัก มากกว่า g เบา (ซึ่งตัวเขาเองนิยม)[6]

ในภาษาอื่น ๆ[แก้]

ในภาษาฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่จะออกเสียงคำว่า GIF เป็น [ʒif] (เสียงคล้าย ชิฟ)[7] โดยใช้เสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง [ʒ] (เสียงคล้ายเสียงของ "ช") อย่าง j ในคำว่า joie (เสียงคล้าย ชัว) ในภาษาฝรั่งเศส หรืออย่าง s ในคำว่า measure (เสียงคล้าย เมชเชอร์) และ vision (เสียงคล้าย วิชชัน) ในภาษาอังกฤษ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่จะคงเสียง [] (ซึ่งไม่ปรากฏในวงศัพท์ฝรั่งเศสดั้งเดิม) ไว้ในคำยืมจากภาษาอังกฤษ (เช่น jeans; เสียงคล้าย จีน) ก็ตาม[8] บางภาษาไม่มีเสียง g หนัก หรือไม่มีเสียง g เบา ในระบบเสียงของตน เช่น ภาษาสเปนและภาษาฟินแลนด์ไม่มีเสียง [ʒ] ในวงศัพท์ดั้งเดิม ภาษาอาหรับถิ่นหลายภาษาไม่มีเสียง [ɡ][9][10] ในขณะที่ภาษาไทยไม่มีทั้งเสียง [ɡ], [ʒ] และ [dʒ] เป็นต้น ในภาษานอร์เวย์ อักษร G ในคำว่า GIF ออกเสียงเป็น g หนัก ([ɡ])[11] ซึ่งต่างกับการออกเสียงลำดับอักษร ⟨gi⟩ ในคำนอร์เวย์ดั้งเดิมเป็นเสียงเปิด เพดานแข็ง ก้อง [j] อย่าง y ในคำว่า yes (เสียงคล้าย เยส) ในภาษาอังกฤษ[12]

การวิเคราะห์ข้อถกเถียง[แก้]

สาเหตุ[แก้]

ในภาษาอังกฤษ ข้อถกเถียงทางภาษาศาสตร์นี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีกฎกลางว่า ลำดับอักษร gi จะต้องออกเสียงเช่นไร โดยที่เสียง g หนัก ปรากฏในคำเช่น gift และเสียง g เบา ปรากฏในคำเช่น gin (เสียงคล้าย จิน) เป็นต้น ในภาษาอังกฤษเก่า อักษร g อาจออกเสียงเป็นเสียง g เบา หรืออาจออกเสียงเป็นเสียง y (ที่เป็นพยัญชนะ) และเมื่อภาษาอังกฤษรับเสียง g หนัก เพิ่มเข้ามาในภายหลัง การออกเสียง g ทั้งแบบเบาและแบบหนักก็ยังปรากฏต่อไปในบริบทที่ซึ่ง g นำหน้า i[2]

การวิเคราะห์คำจำนวน 269 คำ โดยไมเคิล ดาว (Michael Dow) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน พบว่าแนวโน้มการออกเสียง g หนัก หรือ g เบา เมื่อพิจารณาจากคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ มีผลลัพธ์เกือบเท่ากัน กระนั้น ผลการวิเคราะห์อาจแตกต่างไปบ้างขึ้นอยู่กับกรอบค่าที่ใช้ในการวิเคราะห์[13] ในบรรดาคำ 105 คำที่มี gi อยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของคำนั้น มี 68 คำที่ออกเสียง g เบา ในขณะที่มีเพียง 37 คำที่ออกเสียง g หนัก อย่างไรก็ตาม พบว่าคำที่ออกเสียง g หนัก ปรากฏบ่อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญในภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยคำที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง flibbertigibbet (เสียงคล้าย ฟลิบเบอร์ทิจิบบิต) และ tergiversate (เสียงคล้าย เทอร์จิเวอร์เซต) ซึ่งออกเสียง g เบา นั้นมีรวมอยู่ในรายการคำ 68 คำที่ออกเสียง gi เบา เมื่อนำความชุกของคำแต่ละคำเข้ามาพิจารณาด้วย พบว่าเสียง g หนัก และ g เบา ปรากฏในความถี่เกือบเท่ากันในบรรดาคำที่มี gi และไม่พบแนวโน้มที่ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่งเช่นกันไม่ว่าจะพิจารณาเฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วย gi หรือพิจารณาเฉพาะคำพยางค์เดียวอย่าง gift (เสียงคล้าย กิฟต์) และ gin (เสียงคล้าย จิน) เป็นต้นก็ตาม

เกรตเชิน แม็กคัลล็อก นักภาษาศาสตร์ชาวแคนาดา เสนอทฤษฎีโดยอ้างจากงานของไมเคิล ดาว ว่า ในเมื่อเสียง g หนัก และ g เบา ในบริบทนี้มีการใช้งานในความถี่ที่แทบจะเท่ากัน เมื่อบุคคลหนึ่งพบคำว่า GIF เป็นครั้งแรก บุคคลนั้นก็จะคาดเดาการออกเสียงในลักษณะคล้ายกับการโยนหัวโยนก้อย โดยการเทียบคำนี้กับคำอื่น ๆ ที่ตนเองได้พบมาในอดีต และเมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะออกเสียงแบบใด ความคิดนั้นก็จะฝังรากไปเลย แม็กคัลล็อกจึงให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "นี่อาจหมายความว่าเราจะต่อสู้กันในสงครามการออกเสียงคำว่า gif ไปอีกหลายชั่วอายุคน"[14]

ข้อโต้แย้ง[แก้]

การวิเคราะห์ใน ค.ศ. 2019 โดยมาร์เติน ฟัน เดอร์ เมอเลิน นักภาษาศาสตร์ชาวดัตช์ พบว่าข้อโต้แย้งที่มีผู้ยกมาใช้บ่อยที่สุดในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF คือข้อโต้แย้งประเภท "ระบบ" ซึ่งสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการโต้เถียงโดยยืนกรานว่ารูปแบบการออกเสียงควรเป็นผลสืบเนื่องมาจากกฎที่คงเส้นคงวาของภาษา[15] ตัวอย่างหนึ่งของข้อโต้แย้งประเภทนี้คือ "คำย่อตามระบบ" ซึ่งเสนอว่า ในเมื่ออักษร G ในคำว่า GIF ย่อมาจากคำว่า graphics เราก็ควรจะออกเสียงอักษรนี้โดยใช้หน่วยเสียงเดียวกัน (กล่าวคือ g หนัก) ข้อโต้แย้งนี้บางครั้งมาพร้อมกับการประชดประชันว่า หากเราต้องออกเสียงคำย่อ GIF โดยใช้ g เบา แล้ว เราก็ควรออกเสียงคำเต็มของมันว่า /ˈræfɪks/ (เสียงคล้าย จแรฟิกส์) ให้เหมือนกันด้วย[16][17][18][19] ข้อโต้กลับสำหรับข้อโต้แย้งนี้มีอยู่ว่า อักษรในคำย่อไม่จำเป็นต้องออกเสียงเหมือนอักษรในคำรากของมัน เช่น อักษร u ในคำว่า scuba (ย่อมาจาก self-contained underwater breathing apparatus) ออกเสียงเป็น // (เสียง อู) แม้ว่าอักษร u ในคำราก underwater จะออกเสียงเป็น /ʌ/ (เสียงคล้าย อะ) ก็ตาม[16] เช่นเดียวกับกรณีคำย่อ NASA (ย่อมาจาก National Aeronautics and Space Administration) ซึ่งออกเสียงว่า /ˈnæsə/ (เสียงคล้าย แนซา, ฟังเสียง) และไม่ได้ออกเสียงว่า /ˈnsə/ (เสียงคล้าย เนซา)[14][16]

อีกตัวอย่างหนึ่งของข้อโต้แย้งประเภท "ระบบ" คือการวิเคราะห์ความถี่ ซึ่งสำรวจว่าคำภาษาอังกฤษอื่น ๆ มีกี่คำที่ออกเสียงโดยใช้ g หนัก หรือ g เบา ในสถานการณ์อื่น ๆ ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์ของไมเคิล ดาว[20] หลังจากที่สตีฟ วิลไฮต์ ประกาศความเห็นของเขาว่าการออกเสียงแบบ g เบา เป็นแบบที่ถูกต้องแบบเดียวเท่านั้น ได้เกิดการพูดคุยอย่างมีนัยสำคัญจากทั้งสองฝ่ายของประเด็นนี้ในสื่อสังคมและสื่อมวลชน[4] เคซี แชน ซึ่งเขียนบทความให้แก่ กิซโมโด โต้แย้งว่าวิลไฮต์เป็นฝ่ายผิด เนื่องจากเสียง g เบา ที่ตามด้วย if ควรจะสะกดด้วยอักษร j ดังเช่นในคำว่า jiffy (เสียงคล้าย จิฟฟี) ในชื่อบริษัทเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง Jiffy Lube (เสียงคล้าย จิฟฟีลูบ) และในวลี be back in a jiffy (เสียงคล้าย บีแบ็กอินอะจิฟฟี) หรือในชื่อบริษัทเนยถั่ว Jif (เสียงคล้าย จิฟ) เป็นต้น[21]

ข้อโต้แย้งที่พบได้บ่อยที่สุดในลำดับถัดมาในการวิเคราะห์ของฟัน เดอร์ เมอเลิน คือข้อโต้แย้งที่อ้างถึงผู้มีอำนาจกำหนด (authority) รายใดรายหนึ่งซึ่งมักจะเป็นวิลไฮต์ในฐานะผู้คิดค้นรูปแบบไฟล์ภาพนี้[22] หลังจากที่วิลไฮต์ประกาศสนับสนุนการออกเสียงแบบ g เบา หลายคนยอมรับว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจกำหนดคำอ่านออกเสียงของคำนี้เนื่องจากเขาเป็นผู้สร้างสรรค์รูปแบบไฟล์ภาพ วิลไฮต์เป็นผู้มีมีสิทธิอำนาจในการกำหนดการออกเสียงคำว่า GIF ที่ได้รับการอ้างถึงมากที่สุดในการวิเคราะห์ โดยคิดเป็นร้อยละ 65.2 ของบรรดาข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการออกเสียงแบบ g เบา โดยอ้างถึงผู้มีสิทธิอำนาจ[22] บางคนซึ่งรวมถึงเคซี แชน อ้างถึงประธานาธิบดีบารัก โอบามา เพื่อสนับสนุนการออกเสียงแบบ g หนัก[21] และคนอื่น ๆ อ้างถึงพจนานุกรมหรือซอฟต์แวร์ผู้ช่วยต่าง ๆ (อย่างซีรีเป็นต้น) ในฐานะผู้มีอำนาจในการกำหนดการออกเสียงคำว่า GIF[22]

ผลสำรวจ[แก้]

จำนวนผู้ใช้ที่สนับสนุนการออกเสียงแต่ละแบบ ในบทวิเคราะห์ของฟัน เดอร์ เมอเลิน

  g หนัก (57.2%)
  g เบา (31.8%)
  ทั้งคู่ (เอียงไปทาง g เบา) (8.2%)
  ออกเสียงแยกทีละตัวอักษร (2.8%)

การสำรวจซึ่ง แมชาเบิล จัดขึ้นใน ค.ศ. 2014 และมีผู้เข้าร่วมตอบมากกว่า 30,000 คนทั่วโลก พบว่าเจ็ดในสิบคนออกเสียงอักษร G ในคำว่า GIF เป็นเสียง g หนัก[23] การวิเคราะห์ของฟัน เดอร์ เมอเลิน พบว่าร้อยละ 57.2 ของข้อความออนไลน์ที่เขารวบรวมมานั้นสนับสนุนการออกเสียงแบบ g หนัก ในขณะที่ร้อยละ 31.8 พอใจที่จะออกเสียงแบบ g เบา นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 8.2 สนับสนุนการออกเสียงทั้งสองแบบ แต่เอียงไปทางแบบ g เบา มากกว่า และร้อยละ 2.8 เลือกออกเสียงคำนี้แบบแยกทีละตัวอักษร[24]

การสำรวจบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไม่เป็นทางการใน สแต็กโอเวอร์โฟลว์ พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 65.6 เลือกออกเสียงแบบ g หนัก, ร้อยละ 26.3 เลือกออกเสียงแบบ g เบา, ร้อยละ 6 เลือกออกเสียงแบบแยกทีละตัวอักษร และร้อยละ 2 ไม่ได้ออกเสียงหนึ่งในสามแบบข้างต้น[25] อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จาก ดิอีโคโนมิสต์ โต้แย้งว่าสัดส่วนในผลสำรวจดังกล่าวต่างกันมากเกินจริงเนื่องจากความเอนเอียงในการเลือกตัวอย่าง กล่าวคือ ในขณะที่ประชากรของประเทศที่นิยมใช้เสียง g หนัก มีสัดส่วนคิดเป็นเพียงร้อยละ 45 ของประชากรโลก ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศเหล่านั้นกลับมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างการสำรวจ และเมื่อคำนวณใหม่โดยถ่วงน้ำหนักประชากรของแต่ละประเทศแล้ว สัดส่วนของผู้ออกเสียงแบบ g หนัก ยังคงนำอยู่ แต่ก็นำอยู่ไม่มากที่ร้อยละ 44 ต่อร้อยละ 32 ซึ่งเป็นสัดส่วนของผู้ออกเสียงแบบ g เบา การถ่วงน้ำหนักประชากรยังทำให้สัดส่วนผู้ออกเสียงแบบแยกทีละตัวอักษรเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 21 อีกด้วย รูปแบบการออกเสียงแยกทีละตัวอักษรนี้พบได้ทั่วไปในประเทศแถบเอเชีย โดยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจชาวจีนประมาณครึ่งหนึ่ง และผู้ตอบแบบสำรวจชาวเกาหลีใต้ประมาณร้อยละ 70 เลือกออกเสียงแบบนี้ ส่วนประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมมีแนวโน้มเลือกออกเสียงแบบ g หนัก มากกว่า[5]

พจนานุกรม[แก้]

พจนานุกรมออนไลน์ ดิกชันนารีดอตคอม เก็บคำอ่านออกเสียงของคำว่า GIF ไว้ทั้งแบบ g หนัก และแบบ g เบา โดยให้คำอ่านแบบ g เบา เป็นแบบหลัก[26] ในขณะที่ พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบอเมริกันของเคมบริดจ์ และ พจนานุกรมเคมบริดจ์สำหรับผู้เรียนระดับสูง เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g หนัก ไว้เพียงแบบเดียว[27] พจนานุกรมออนไลน์ของเมร์เรียม-เวบสเตอร์[28] และเล็กซิโกเก็บคำอ่านออกเสียงไว้ทั้งสองแบบ[29] นิวออกซ์เฟิร์ดอเมริกันดิกชันนารี ฉบับปี 2005 เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g เบา ไว้เพียงแบบเดียว[30] ส่วน ออกซ์เฟิร์ดดิกชันนารีออฟอิงกลิช ฉบับปี 2010 เก็บคำอ่านออกเสียงไว้ทั้งสองแบบ แต่เรียงเอาคำอ่านแบบ g เบา ขึ้นก่อน[31] พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส เปอตีรอแบร์ และ เปอตีลารุส เก็บคำอ่านออกเสียงไว้เพียงแบบเดียวคือ [ʒif] (เสียงคล้าย ชิฟ)[32][33] พจนานุกรมภาษานอร์เวย์ของบัณฑิตยสถานนอร์เวย์เก็บคำอ่านออกเสียงแบบ g หนัก ไว้เป็น [gifː] (เสียงคล้าย กิฟฟ์)[11] หนังสือ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี 2006 กำหนดคำทับศัพท์ของคำว่า GIF ไว้เพียงแบบเดียวคือ "จิฟ"[1] ซึ่งมีที่มาจากคำอ่านออกเสียงแบบ g เบา ในภาษาอังกฤษ

เหตุการณ์[แก้]

บัญชีทัมเบลอร์ของทำเนียบขาวโพสต์อินโฟกราฟิกเชิงขบขันซึ่งระบุว่าควรออกเสียงคำว่า GIF ด้วยเสียง g หนัก

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2013 วิลไฮต์ได้รับรางวัลสาขาความสำเร็จสูงสุดในงานประกาศรางวัลเวบบีซึ่งเชิดชูเกียรติความสำเร็จทางอินเทอร์เน็ต ขณะเขาขึ้นรับรางวัล หน้าจอเหนือเวทีในงานก็แสดงข้อความว่า:

มัน
ออกเสียงว่า
"จิฟ"
ไม่ใช่ "กิฟ"[c]

"จิฟ" ในที่นี้หมายถึงการออกเสียงแบบ g เบา[4] หลังจากกล่าวสุนทรพจน์แล้ว วิลไฮต์กล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่า "พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด ยอมรับการออกเสียงทั้งสองแบบ พวกเขาเข้าใจผิด มันออกเสียงแบบ g เบา เท่านั้น ... จบนะ"[4][17]

ผู้เข้าร่วมงานมีปฏิกิริยาตอบรับในทางบวกต่อสุนทรพจน์สั้น ๆ ของวิลไฮต์ แต่กลับเกิดการโต้เถียงขึ้นในโลกออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้บางส่วนแสดงความเห็นต่อต้านรูปแบบการออกเสียงของเขา[34][35] ฟัน เดอร์ เมอเลิน ตั้งข้อสังเกตว่านี่ "ดูเหมือนจะเป็นคนบัญญัติคำ (หรือคำย่อ ถ้าจะกล่าวให้ถูก) คนแรกที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คำที่เขาบัญญัติขึ้นเอง"[36] มีการทวีตมากกว่า 17,000 ครั้งภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ ทำให้ "GIF" กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่กำลังได้รับความนิยมทางทวิตเตอร์ในขณะนั้น[34] และมีการเขียนบทความข่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้มากกว่า 50 บทความ[4] สามปีถัดมา โคลัมเบียเจอร์นัลลิสม์รีวิว ตั้งข้อสังเกตว่าการโต้เถียงในประเด็นนี้ดูเหมือนจะขึ้นสู่จุดสูงสุดร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าว[35] บริษัทเนยถั่วจิฟตอบทวีตหนึ่งซึ่งถามบริษัทรู้สึกอย่างไรหลังได้ฟังสุนทรพจน์ของวิลไฮต์ โดยระบุว่า "พวกเราคลั่งไคล้เขามากเลย!"[d][4] เจ็ดปีให้หลัง จิฟจัดกิจกรรมเรียกความสนใจร่วมกับกิฟี ฐานข้อมูลไฟล์ภาพเคลื่อนไหวขนาดสั้น ทั้งสองบริษัทออกแถลงการณ์ร่วมโดยโต้แย้งว่าการออกเสียงที่ถูกต้องคือแบบ g หนัก และเปิดตัวเนยถั่วรุ่นผลิตจำกัดจำนวนซึ่งเปลี่ยนตัวสะกดชื่อยี่ห้อบนฉลากจาก JIF เป็น GIF[37]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 เดอะนิวยอร์กไทมส์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เล็กน้อยทางสื่อสังคมหลังจากเผยแพร่บทความหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า "GIF ซึ่งออกเสียงว่าจิฟ เป็นรูปแบบไฟล์ภาพบีบอัดที่คิดค้นขึ้นใน ค.ศ. 1987"[38] บทความนั้นมีลิงก์ไปยังบทความก่อนหน้าของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ที่มีรายงานเกี่ยวกับสุนทรพจน์ของวิลไฮต์และคำพูดที่เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์[4][38] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 อเล็กซ์ ทริเบก ผู้ดำเนินรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ เจพาร์ดี! ดึงดูดความสนใจจากสื่อหลังจากคำใบ้สุดท้ายในตอนหนึ่งของรายการอ้างถึงความเห็นของวิลไฮต์เกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า GIF ทริเบกอ่านคำตอบของผู้เข้าแข่งขันโดยใช้เสียง g เบา เมื่อคำว่า GIF ปรากฏเป็นคำตอบที่ถูกต้องของผู้เข้าแข่งขันทั้งสามคน[39] ในอดีต ทริเบกออกเสียงคำนี้แบบเรียงตัวอักษรเพื่อแสดงตัวเป็นกลางในประเด็นโต้เถียงนี้[40]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐในขณะนั้น ออกความเห็นว่าควรออกเสียงคำย่อนี้ด้วยเสียง g หนัก หลังประเด็นดังกล่าวผุดขึ้นมาระหว่างการสนทนากับเดวิด คาร์ป ผู้ก่อตั้งทัมเบลอร์ ไมลส์ คลี จาก เดอะเดลีดอต นำโพสต์หนึ่งที่บัญชีทัมเบลอร์ของทำเนียบขาวลงไว้เมื่อเดือนเมษายนปีก่อนหน้ามาทำให้เป็นจุดสนใจ ในโพสต์ดังกล่าวมีอินโฟกราฟิกเชิงขบขันพร้อมข้อความ "ภาพเคลื่อนไหว GIF (g หนัก)"[e][41]

หมายเหตุ[แก้]

  1. อังกฤษ: Choosy programmers choose "gif" or "jif"?
  2. อังกฤษ: Choosy moms choose Jif.
  3. อังกฤษ: IT'S PRONOUNCED "JIF" NOT "GIF"
  4. อังกฤษ: We're nuts about him!; นอกจาก nuts จะแปลว่า 'ถั่ว' แล้ว ในสำนวนภาษาปากยังแปลว่า 'คลั่งไคล้, หลงใหล' ได้ด้วย
  5. อังกฤษ: animated GIFs (hard "g")

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ศัพท์บัญญัติสำนักงานราชบัณฑิตยสภา". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ July 1, 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Greenfield, Rebecca (February 1, 2011). "Tech etymology: animated GIF". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  3. Biersdorfer, J. D. (January 12, 2022). "How to make your own animated GIFs". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 O'Leary, Amy (May 23, 2013). "Battle over GIF pronunciation erupts". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  5. 5.0 5.1 "How do you pronounce GIF?". The Economist. June 29, 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  6. Webb, Tiger (August 9, 2018). "Is it pronounced GIF or JIF? And why do we care?". ABC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 29, 2021. สืบค้นเมื่อ December 28, 2021.
  7. Mercier, Jacques (June 12, 2016). "Faut-il dire «guif» ou «jif» ?". Le Figaro (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ June 15, 2022.
  8. Fagyal, Zsuzsanna; Kibbee, Douglas; Jenkins, Fred (2006). French: A Linguistic Introduction. Cambridge University Press. p. 44. ISBN 978-0-521-82144-5.
  9. Dumazet, Mathilde (June 30, 2017). "La prononciation du mot GIF dépend du pays dans lequel vous habitez" [The pronunciation of the word GIF depends on the country you live in]. Slate (ภาษาฝรั่งเศส). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 18, 2022. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
  10. Ryding, Karin C. (June 2014). "Arabic phonology". Arabic: A Linguistic Introduction. Cambridge University Press. pp. 18–19. doi:10.1017/CBO9781139151016. ISBN 9781139151016. OL 34503724M.
  11. 11.0 11.1 "gif". Det Norske Akademis ordbok (ภาษานอร์เวย์). Norwegian Academy for Language and Literature. สืบค้นเมื่อ April 12, 2022.
  12. Kristoffersen, Gjert (December 15, 2007). "Word phonology". The Phonology of Norwegian. The Phonology of the World's Languages. Oxford University Press. p. 112. ISBN 9780199229321.
  13. Dow, Michael (August 31, 2020). "It's gif and gif: The English lexicon goes both ways". mcdowlinguist.github.io. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 4, 2020. สืบค้นเมื่อ December 28, 2021.
  14. 14.0 14.1 McCulloch, Gretchen (December 24, 2021). "Why the pronunciation of GIF really can go either way". Mental Floss. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2021. สืบค้นเมื่อ December 24, 2021.
  15. van der Meulen 2019, pp. 46, 49.
  16. 16.0 16.1 16.2 van der Meulen 2019, p. 46.
  17. 17.0 17.1 Locker, Melissa (February 26, 2020). "Here's a timeline of the debate about how to pronounce GIF". Time. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  18. Rodriguez, Salvador (June 15, 2012). "GIF's 25th birthday: Is it pronounced gif or jif?". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  19. Hatfield, Daemon (May 2, 2017). "Most people pronounce GIF as ghif". IGN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 12, 2020. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  20. van der Meulen 2019, p. 49.
  21. 21.0 21.1 Chan, Casey (May 21, 2013). "The creator of the GIF says it's pronounced JIF. He is wrong". Gizmodo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 29, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  22. 22.0 22.1 22.2 van der Meulen 2019, p. 48.
  23. Buck, Stephanie (October 21, 2014). "70 percent of people worldwide pronounce GIF with a hard g". Mashable. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 23, 2021. สืบค้นเมื่อ December 24, 2021.
  24. van der Meulen 2019, p. 47.
  25. "Developer survey results". Stack Overflow. 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 18, 2022. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
  26. "GIF". Dictionary.com Unabridged. Random House. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  27. "GIF". Cambridge Dictionary (Online). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 27, 2014. สืบค้นเมื่อ February 19, 2014.
  28. "GIF". Merriam-Webster (Online). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2013. สืบค้นเมื่อ June 6, 2013.
  29. "GIF". Lexico (Online). Oxford University Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 12, 2014. สืบค้นเมื่อ October 7, 2014.
  30. The New Oxford American Dictionary 2005, p. 711.
  31. Oxford Dictionary of English 2010, p. 737.
  32. "gif". Petit Robert (Online) (ภาษาฝรั่งเศส). Dictionnaires Le Robert. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
  33. "gif". Petit Larousse (Online) (ภาษาฝรั่งเศส). Éditions Larousse. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
  34. 34.0 34.1 Gross, Doug (May 22, 2013). "It's settled! Creator tells us how to pronounce GIF". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 1, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  35. 35.0 35.1 Perlman, Merrill (July 18, 2016). "The great GIF debate". Columbia Journalism Review. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 30, 2020. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  36. van der Meulen 2019, p. 45.
  37. Ritzen, Stacey (February 25, 2020). "Jif peanut butter and Giphy have joined forces on how to pronounce GIF". The Daily Dot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  38. 38.0 38.1 Bump, Philip (October 22, 2013). "If you pronounce GIF with a hard g, you must be new to the internet". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 16, 2014. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  39. Rothberg, Daniel (December 4, 2013). "Jeopardy wades into GIF pronunciation battle". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.
  40. Dewey, Caitlin (December 4, 2013). "Jeopardy has conclusively settled the GIF pronunciation war". The Washington Post. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 4, 2022. สืบค้นเมื่อ March 3, 2022.
  41. Klee, Miles (June 13, 2014). "Obama to America: Pronounce GIF with a hard g". The Daily Dot. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2021. สืบค้นเมื่อ November 28, 2021.

บรรณานุกรม[แก้]